แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการนวัตกรรมและสารสนเทศของสถานศึกษา
เป็นการจัดการโดยทำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการจัดระบบข้อมูล เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ ในทางปฏิบัติสิ่งที่ผู้บริหารต้องการเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานของตนให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว คือ การมีข้อมูลที่ถูกต้องเป็นปัจจุบันและเอื้อต่อการนำมาประเมินในขั้นวิเคราะห์และสังเคราะห์ต่อไป ผู้บริหารการศึกษาทุกระดับได้พยายามให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่จำเป็นและสำคัญต่อการตัดสินใจและการวางแผนการศึกษา แต่คงไม่สามารถปฏิเสธว่าอุปสรรคต่อการดำเนินการ คือ ความเป็นปัจจุบันของข้อมูล ความหลากหลายและปริมาณข้อมูลที่มีมาก ยิ่งไปกว่านั้นการนำข้อมูลที่ได้มาเพื่อการวิเคราะห์และสังเคราะห์ มีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการที่ต้องใช้เวลา และต้องระมัดระวังเพื่อป้องกันการผิดพลาด ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้มาเป็นข้อมูลตาย ไม่สามารถนำมาประมวลผลต่อได้ จำเป็นต้องเปลี่ยนข้อมูลที่ได้มาเป็นข้อมูลดิจิตอล (Digital Date) การดำเนินงานดังกล่าวเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและอาจมีข้อผิดพลาดในการถ่ายข้อมูลได้ ดังนั้น กว่าจะประมวลผลข้อมูลและออกเป็นรายงานได้ จึงต้องใช้เวลาและมักไม่ทันต่อการนำไปใช้วางแผน หรือปรับการดำเนินการ
ดังนั้น การบริหารจึงต้องอาศัยข้อมูลที่ได้จากการศึกษาอย่างมีระบบและมีความเป็นวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้เพราะข้อมูลในลักษณะดังกล่าวทำให้ทราบถึงจุดแข็งจุดอ่อน และประเด็นที่ต้องนำมาวางแผนเพื่อพัฒนาในการบริหารงาน ดังนี้
1. การจัดทำแผนการนำนวัตกรรมและสารสนเทศเข้ามาใช้ ต้องให้ผู้เกี่ยวข้องมีความเข้าใจและเตรียมตัวในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องให้ประสานสอดคล้องกัน การเตรียมงบประมาณรองรับเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องให้เพียงพอ ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมคนที่จะดูแลระบบงานใหม่เพื่อให้สามารถทำงานตามบทบาทหน้าที่ที่ได้กำหนดไว้ สิ่งสำคัญที่จะละเลยไม่ได้ก็คือ ผู้เกี่ยวข้องที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้จำเป็นต้องได้รับทราบ และทำความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย
2. การพัฒนาหรือจัดหาระบบเทคโนโลยีที่ต้องการนำเข้ามาใช้ จะต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ โดยมีการพิจารณา ศึกษาวิเคราะห์ และคัดเลือกด้วยวิธีการที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน ขั้นตอนนี้อาจต้องใช้เวลาและต้องให้เกิดความมั่นใจว่าจะได้ระบบที่ดีที่เหมาะสมต่อการใช้งาน
3. การเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม มีความสำคัญต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการมาก เนื่องจากระบบงานด้านเทคโนโลยีมีองค์ประกอบจำนวนมากทั้ง Hardware, Software, และ Application องค์ประกอบต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องจัดหาให้สอดคล้องกัน
4. การพัฒนาบุคลากรการจัดการสารสนเทศ เป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้การทำงานประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพ บุคลากรที่ควบคุมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศจะต้องพัฒนาให้มีความรู้และสามารถทำงานตามข้อกำหนดของการใช้เทคโนโลยีได้อย่างครบถ้วน
5. การติดตามประเมินผล ระบบงานบริหารจัดการที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยควรมีการประเมินผลอย่างน้อย 2 ส่วน ด้วยกัน ส่วนแรกต้องประเมินผลงานที่กำหนดไว้ในแผนงาน เช่น ความสามารถให้บริการตามเป้าหมาย การนำเสนอรายงานตามกำหนดเวลา ส่วนที่สองคือ การประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ เพื่อสะท้อนให้เห็นสถานภาพของระบบงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้ ในด้านความรวดเร็ว ความแม่นยำถูกต้อง และความสะดวกในการใช้ระบบงาน การติดตามประเมินผลควรจะมีระยะเวลากำหนดไว้ตลอดช่วงเวลาในแต่ละปี หากพบข้อบกพร่องหรือมีข้อเสนอแนะที่ควรแก่การแก้ไขปรับปรุงก็ควรพิจารณา และปรับปรุงให้สอดคล้องตรงตามความต้องการของผู้ใช้อย่างต่อเนื่อง
วิสัยทัศน์ (Vision)
คือ ความคิดเห็นที่มีขอบเขต ระเบียบ ระบบหรือการมองภายในอนาคตที่หน่วยงานอยากเห็น อยากให้เป็นภาพที่หน่วยงานคาดหวังให้เกิดขึ้นในอนาคต โดยมีพื้นฐานอยู่บนความจริงในปัจจุบัน
ยุทธศาสตร์ (Strategy)
คือ การมองทิศทางและวิเคราะห์ไปสู่อนาคต โดยพิจารณาถึงทรัพยากร ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ทางเลือกต่าง ๆ ความเป็นไปได้ขององค์การเพื่อระดมมาใช้ และพิจารณาว่าสามารถนำองค์การไปสู่ภารกิจและเป้าหมายที่วางไว้ กลยุทธ์ คือ เครื่องมือที่กำหนดทิศทางการทำงานของหน่วยงานเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายให้บริการ
บริบทของสถานศึกษา โรงเรียนอนุบาลบ้านเด็ก
1. โรงเรียนอนุบาลบ้านเด็ก ตั้งอยู่เลขที่ 27/1 ถ.พัฒนาการคูขวาง ต.ในเมือง อ.เมือง
จ.นครศรีธรรมราช สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1
2. ได้รับอนุญาตจัดตั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2544
3. เปิดสอนตั้งแต่ชั้นบริบาล ชั้นอนุบาล 1 ถึง อนุบาล 3
4. ผู้รับใบอนุญาต ชื่อ นายธีระ คู่ปิตุภูมิ
5. ผู้อำนวยการและผู้จัดการ ชื่อนางวิสาข์ คู่ปิตุภูมิ
6. โรงเรียนตั้งอยู่บนที่ดินเนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 36 ตารางวา
- ทิศเหนือติดโรงแรมสิริธานี
- ทิศใต้ติดคลองสานหลวง
- ทิศตะวันออก ติดถนนพัฒนาการคูขวาง
- ทิศตะวันตก ติดโครงการอาคารทาวน์เฮาส์
7. โรงเรียนจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับการเป็นแหล่งเรียนรู้ คือ เป็นสวนป่าธรรมชาติ มีไม้ผล ไม้ดอก ไม้ประดับ มีสนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ และสัตว์สวยงาม เช่นนกยูง ไก่ต๊อก ไก่งวง เป็นต้น
8. โรงเรียนตั้งอยู่ติดถนนพัฒนาการคูขวาง ซึ่งมีสถานที่สำคัญมากมาย เช่น โรงพยาบาลนครพัฒน์ โรงแรมทวินโลตัส โครงการหมู่บ้านจัดสรร ตลาดและห้างเทสโก้โลตัส
9. บุคลากรของโรงเรียนเรียนจบทางด้านปฐมวัยเป็นส่วนใหญ่ และเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่
จ.นครศรีธรรมราช
10. ผู้ปกครองเป็นผู้มีรายได้สูงถึงปานกลาง แต่การเก็บค่าธรรมเนียมการเรียนก็ไม่สูงมากนัก ประมาณ 7,200 บาท ทั้งนี้เพราะผู้ปกครองกลุ่มมีรายได้ปานกลางมีมากกว่ารายได้สูง
จากบริบทของโรงเรียนอนุบาลบ้านเด็กจะเห็นได้ว่า เป็นสถานศึกษาระดับชั้นอนุบาลที่พร้อมในการที่จะส่งบุตรหลานเข้าเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา
สภาพปัญหาหรือสิ่งที่ต้องการพัฒนา
ปัญหาของโรงเรียนอนุบาลบ้านเด็ก ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน ยังขาดความร่วมมือจากชุมชนในด้านการมีส่วนร่วมกับโรงเรียน เพื่อช่วยแนะนำด้านการจัดการเรียนการสอนหรือเป็นคณะกรรมการของสถานศึกษา ก็ไม่สามารถหาคนมาร่วมกับโรงเรียนได้ เพราะผู้ที่อยู่ในชุมชนจะมองโรงเรียนเอกชนเป็นงานบริหารแบบทำธุรกิจ จึงไม่อยากยุ่งและเห็นว่าไม่ใช่ธุระของตน หรืออาจไม่มีเวลาพอที่จะสละเวลามาร่วมงานของโรงเรียนตามหลักการบริหารแบบ SBM ได้
ความร่วมมือที่มี คือได้จากผู้ปกครองนักเรียน ซึ่งเป็นเพียงมีการร่วมในกิจกรรมที่โรงเรียนจัดขึ้นเท่านั้น เช่น กิจกรรมวันแม่ กีฬาสี หรือตักบาตรวันปีใหม่ ส่วนเรื่องการมีส่วนร่วมในการบริหารกับโรงเรียนยังขาดอยู่
และปัญหาอีกอย่างหนึ่ง คือ การเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นทางโรงเรียน ยังขาดวิทยากรที่มีความรู้ และเชี่ยวชาญมาแนะนำ เช่น ศิลปะการทำหนังตะลุง หรือ การรำมโนราห์ โรงเรียนแก้ปัญหาโดยพานักเรียนไปชมที่แหล่งการเรียนรู้เอง
ผู้ให้ข้อมูล นางวิสาข์ คู่ปิตุภูมิ
หน่วยงาน โรงเรียนอนุบาลบ้านเด็ก
ณ วันที่ 19 พ.ย. 52
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น